Boarding Pass คืออะไร? ดูเป็น เข้าใจแล้วจะไม่ตกเครื่อง

Boarding Pass คืออะไร บอกอะไรให้ผู้โดยสารรู้บ้าง?

ขึ้นเครื่องกันบ่อยๆ รู้ไหมเอ่ยว่า Boarding Pass บอกอะไรให้เราทราบบ้าง? และอะไรบ้างที่เราควรทราบจากบน Boarding Pass? วันนี้พี่ช้างจะมาบอกให้ฟัง พร้อมไขข้อสงสัยในกรณีที่ Boarding Pass ไม่ได้ระบุ Gate ไว้ที่เราชอบเรียกติดปากกันว่าเกทยังไม่ออก หรือแม้แต่มีการระบุไว้ในตั๋วเรียบร้อยแล้วแต่กลับมีการเปลี่ยน Gate กะทันหัน แล้วจะรู้ได้ยังไงล่ะว่าต้องไปขึ้นเครื่องที่ Gate หมายเลขอะไร? มีเยอะแยะไปหมด ไม่ต้องกังวล เดี๋ยวพี่ช้างจะมาบอกวิธีดูครับ จะได้ไม่ต้องตกเครื่องทั้งที่อยู่ในสนามบินเนอะ

Boarding Pass คืออะไร?

Boarding Pass หรือเรียกง่ายๆก็คือ ตั๋วโดยสาร หรือ ตั๋วเครื่องบิน นี่แหละครับเราจะได้รับก็ต่อเมื่อเช็คอินด้วยวิธีใดๆก็ตามเรียบร้อยแล้ว

วิธีการเช็คอิน

  1. เช็คอินที่เคาน์เตอร์สายการบิน ทำการโหลดกระเป๋ายื่น Passport ให้พนักงาน พนักงานจะแนบกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวมากับ Passport ของเรา 
  2. เช็คอินผ่านเครื่อง Kiosk ที่สนามบินบริเวณ Departure Zone (โซนผู้โดยสารขาออก) หลังปรินท์ Boarding Pass ออกมาแล้ว ถ้ามีสัมภาระโหลดใต้เครื่องสามารถไปโหลดกระเป๋าที่เคาน์เตอร์รับฝากสัมภาระของสายการบินของคุณได้เลยครับ ไม่ต้องต่อคิวยาวเพื่อรอเช็คอิน
  3. เช็คอินออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์ที่บ้านและปริ้นท์ Boarding Pass ออกมาเองได้ รวมทั้งสามารถเซฟเก็บไว้ในโทรศัพท์ก็ได้เช่นกันครับ 

หมายเหตุ : Boarding Pass จะไม่ใช่ตัวเดียวกันกับเอกสารที่เราได้รับในอีเมลล์หลังจากจองตั๋วบนเว็ปไซต์นะครับส่วนนั้นจะเรียกว่า E-Ticket ครับแต่ก็ยังมีความสำคัญเช่นกันเราสามารถปริ้นท์ออกมาเพื่อยืนยันว่าเราได้จองตั๋วไว้จริงกรณีเกิดปัญหาที่เคาน์เตอร์ระหว่างเช็คอินครับ รวมทั้งสามารถให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองของปลายทางเช็คได้ว่าเรามีตั๋วขาไปและกลับจริง

Boarding Pass ใช้ทำอะไรได้บ้าง?

ถ้าจะให้เหมารวมโดยง่ายที่สุดก็คือเอกสารยืนยันตนว่าเราคือผู้โดยสารสายการบินครับสำคัญมากๆถ้าไม่อยากวิ่งวุ่นในสนามบินต้องรักษายิ่งชีพห้ามทำหายเด็ดขาด! เจ้าบัตรนี้ได้ใช้ทุกขั้นตอนตลอดตั้งแต่เราเช็คอินเสร็จเลยครับเราต้องถือไว้คู่กับ Passport และต้องโชว์ให้พนักงานดูตั้งแต่เดินเข้าด่านตรวจร่างกายแสกนกระเป๋าผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองขาออกสำหรับท่านที่ซื้อบัตรโดยสารที่ให้สิทธิพิเศษเข้าเลาจน์ได้ก็ต้องเก็บไว้ให้พนักงานตรงเคาน์เตอร์ตรวจก่อนขึ้นเครื่องก็ต้องให้พนักงานตรวจและฉีกแบ่งตั๋วให้เราถืออีกส่วนขึ้นไปพอไปถึงประตูเครื่อง Cabin crew ที่คอยต้อนรับก็จะขอดูอีกครับเพื่อบอกตำแหน่งที่นั่งของเรา

 

ใน Boarding Pass มีอะไรที่เราควรรู้บ้าง?

บัตรโดยสารที่เราคุ้นเคยกันดีจะเป็นสองชิ้นติดกันครับอีกใบใหญ่ อีกใบหนึ่งเล็ก ก่อนเราจะขึ้นเครื่องจะมีเคาน์เตอร์หน้า Gate พนักงานจะทำการแสกนบัตรโดยสารเราเพื่อให้ทราบว่าเราได้มาขึ้นเครื่องแล้ว จากนั้นจะฉีกใบใหญ่ออกไปเหลือหางใบเล็กให้เราถือขึ้นเครื่องไปครับ

**Boarding Pass แต่ละสายการบินหน้าตาไม่เหมือนกันครับ แต่ข้อมูลที่มีอยู่บนนั้นจะเหมือนๆกัน**


1. Passenger name ชื่อผู้โดยสาร : ใน Boarding Pass ชื่อเราจะเป็นภาษาอังกฤษ และส่วนใหญ่จะให้นามสกุลขึ้นก่อนชื่อครับ และต้องตรงตามชื่อเราที่อยู่บน Passport ทุกตัวอักษร ผิดไม่ได้แม้แต่ตัวเดียวครับ


2. Boarding time เวลาขึ้นเครื่อง : เวลาที่ระบุนี้คือเวลาที่เราต้องขึ้นเครื่อง ควรต้องนั่งรอแสตนด์บายอยู่ใน Gate ก่อนเวลาที่ระบุไว้ครับ เวลาที่ระบุนี้จะเป็นเวลาก่อนเครื่องออกประมาณครึ่งชั่วโมง หรือ หนี่งชั่วโมงแล้วแต่จำนวนที่นั่งบนเครื่องครับ


3. Gate คือจุดที่เราต้องไปขึ้นเครื่อง : อาจเป็นตัวเลข หรือตัวอักษรภาษาอังกฤษก็ได้ครับแล้วแต่สนามบินของแต่ละประเทศ แต่ส่วนนี้จะค่อนข้างมีปัญหาอยู่ 2 ส่วน

  • เช็คอินพร้อมออก Boarding Pass เรียบร้อยแล้วแต่ Gate ยังไม่ออก
  • มีการเปลี่ยน Gate กะทันหันหลังจากที่เราเช็คอินเรียบร้อยแล้ว ทำให้ไม่รู้จะไปขึ้นเครื่องที่ไหนดี

วิธีแก้ปัญหา : ให้เช็คที่มอนิเตอร์ที่มีกระจายอยู่ทั่วไปภายในสนามบิน แม้แต่ภายในเลาจน์ก็มีครับ เช็คเลยว่า Gate ของเราออกรึยัง หรือเปลี่ยนแล้วไปที่ Gate ไหน จะได้ไม่หลงวิ่งวุ่นกันเนอะ จริงๆเรื่องนี้สำคัญมากๆครับถ้าดูมอนิเตอร์ไม่เป็นจริงๆลองเดินถามพนักงานหรือคนของสนามบินเลยครับ ยังไงเค้าก็ยินดีให้ความช่วยเหลือแน่นอน และต้องเช็คให้แน่ใจอีกครั้งก่อนเวลา Boarding time ซัก 15-20 นาทีนะครับ เพราะเราต้องไปถึงหน้า Gate ก่อนหรือตรงเวลาเผื่ออยู่ไกลจากจุดที่เราอยู่ จะได้ไม่ต้องวิ่งหอบ เดี๋ยวของจะหายกันซะก่อน


4. Class ชั้นที่นั่งโดยสาร : ชั้นที่นั่งโดยสารส่วนใหญ่ที่เราควรทราบจะถูกแบ่งตามสากล ได้แก่

  • Class P = First Class
  • Class J = Business Class
  • Class Y = Economy Class

หมายเหตุ : ส่วนสายการบินอื่นอาจมีชั้นโดยสารเพิ่มเติมอันนี้ต้องสอบถามสายการบินดูครับ เพราะแม้แต่ตั๋ว First Class แต่เป็นราคาที่มีส่วนลดก็จะถูกแบ่งเป็นอีกคลาสนึงครับซึ่ง Class ของสายการบินที่พี่ช้างพูดถึงมีค่อนข้างเยอะมาก อันนี้เรารู้หลักสำคัญให้หายงงว่าคืออะไรก็พอครับ


5. Flight หมายเลขเที่ยวบิน : จะขึ้นต้นด้วยโค้ดสายการบินตามด้วยหมายเลขเที่ยวบิน เช่น ไฟลท์ TG676 หมายเลขเที่ยวบินสามารถบอกได้ว่าเราบินสายการบินใด และบินกี่โมง เป็นโค้ดที่กรมการบินระหว่างประเทศตั้งขึ้นครับ ถ้าใครไม่ทราบว่าโค้ดสองตัวหน้าคือสายการบินใดสามารถเสิร์ชจากอินเตอร์เน็ตเอาได้เลยครับ ส่วนนี้สำคัญนะครับเราควรจำได้ว่าหมายเลขเที่ยวบินของตัวเองคืออะไร เพื่อง่ายต่อการเขียนใบตม. รวมทั้งการตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่สนามบิน และแม้กระทั่งการดูจอมอนิเตอร์เพื่อเช็คหมายเลข Gate และสถานะเที่ยวบินว่าดีเลย์ หรือแคนเซิลครับ


6. Departure time หรือ Depart เวลาเครื่องออก : ส่วนนี้จะหมายถึงเวลาที่เครื่อง Take off หรือออกจากจุดจอดเพื่อบินออกจากสนามบินครับ มักเป็นตัวเลข 4 ตัวติดกันไม่มีจุดคั่น เช่น 1120 หมายถึง 11 โมง 20 นาที หรือบางสายอาจใช้ระบบ AM และ PM (ปัจุบันไม่ค่อยใช้เพราะมักทำให้คนสับสน) เช่น 1120P จะไม่ใช่ 11 โมงเช้าแล้วนะครับ แต่จะกลายเป็น 5 ทุ่ม 20 นาทีครับ จำไว้ว่าบินออกจากที่ไหนให้ยึดเวลาท้องถิ่นนั้นเสมอ และจะมีอีกแบบที่คนมักจะงงว่าเอ๊ะตกลงดูยังไง ก็คือ 245A ถ้าเขียนแบบนี้ให้รู้ไว้เลยว่าด้านหน้าเลข 2 คือเลข 0 มันก็คือเวลา ตี 2 45 นาทีนั่นเองครับ เลขนาทีด้านหลังจะเป็นเลบ 2 เสมอครับมักจะไม่ถูกตัดออก

เรื่องควรรู้ : หลายคนถกเถียงกันในเรื่องของการใช้ AM และ PM วันนี้พี่ช้างจะขอชี้ชัดในเรื่องนี้เลยครับว่า 

  • AM หมายถึง เวลา 00.00 (เที่ยงคืนตรง) – 11.59 (11 โมงเช้า 59 นาที)
  • PM หมายถึง เวลา 12.00 (เที่ยงวันตรง) – 23.59 (5 ทุ่ม 59 นาที)

7. Arrival time หรือ Arrive เวลาถึงที่หมาย : ส่วนนี้จะเป็นเวลาที่เครื่อง Landing ถึงพื้นในจุดหมายปลายทางของเราครับ จะใช้ตัวเลขติดกันเหมือนกับ Departure time เลยครับ ส่วนนี้สำคัญเมื่อเครื่องลงถึงพื้นปุ๊บ ให้ปรับนาฬิกาของเราให้ตรงกับเวลาของท้องถิ่นนั้นทันที เพราะฉะนั้น บินลงที่ไหนให้ยึดเวลาท้องถิ่นนั้นเสมอเช่นกันครับ


8. From/Depart/Departure/Origin ตามด้วยชื่อประเทศ  : คือเมืองต้นทางที่เราเริ่มออกเดินทางมาครับ


9. To/Arrive/Arrival/Destination ตามด้วยชื่อประเทศ : คือจุดหมายปลายทางที่เรากำลังจะไปครับ


10. Boarding Zone โซนที่นั่งบนเครื่องของเรา : บางสายการบินอาจไม่มีครับ แต่บางสายที่ใช้เครื่องลำใหญ่มีที่นั่งเยอะมักจะใช้วิธีการจัดคิวขึ้นเครื่องของผู้โดยสารด้วยการใช้หมายเลขโซนเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เช่น Zone E ด้านหลังสุดจะได้ขึ้นเครื่องก่อน ส่วน Zone A อยู่ด้านหน้าสุดสายการบินจะประกาศเรียกขึ้นเป็นกลุ่มสุดท้ายครับ แต่หากเป็นผู้โดยสาร First Class และ Business คลาสจะได้ขึ้นเครื่องก่อนทุกคนครับ


11. Seat หมายเลขที่นั่ง : มักจะขึ้นต้นด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตามหลังด้วยตัวเลขครับ เช่น A32 เวลาจะหาที่นั่งให้เจอให้เริ่มจากตัวอักษรด้านหน้าจะบอกตำแหน่งแถวที่นั่งของเราเป็นตอนลึกครับ ส่วนตัวเลขจะบอกว่าเรานั่งอยู่ตรงเก้าอี้หมายเลขอะไรในแถวนั้น ไม่ยากครับหาแถว A ให้เจอแล้วเดินไล่ดูบนช่องเก็บสัมภาระด้านบนจะมีเลขบอกอยู่ เมื่อเจอเลข 32 ของแถว A นั่นล่ะครับที่นั่งของเรา ใครงงเดี๋ยวพี่ช้างจะทำแผนผังไว้ให้ดูนะครับ แต่บางสายการบินอาจใช้ตัวเลขขึ้นก่อนตัวอักษรก็ได้ครับ แต่หลักการหาที่นั่งจะเหมือนกัน

 

นี่ล่ะครับข้อมูลบน Boarding Pass ที่เราควรจะรู้เอาไว้ จริงๆแล้วจะมีข้อมูลอื่นๆอีกที่เป็นอักษรย่อที่จะแจ้งไว้ว่ามีการรีเควสอาหารพิเศษ หรืออะไรใดๆอีกมากมายถ้ามีโอกาสพี่ช้างจะมาเปิดตัวอักษรย่อของสายการบินที่น่ารู้ให้ฟังกันครับ รู้ไว้ไม่เสียหายเพราะบางอย่างเป็นข้อมูลส่วนตัวของเราเกิดสายการบินกรอกข้อมูลผิดพลาดเราจะได้สามารถแจ้งได้ทันท่วงทีครับ